ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวถึงกรณีศึกษาด้านเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างน่าสนใจ ในช่วงเสวนางานปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 9 หัวข้อ “นโยบายของจริง ประชาชนร่วมได้จริง สังคมได้ประโยชน์จริง” เมื่อ วันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2566 ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสรุปได้ดังนี้
เรื่องของนโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจฐานราก มุมมองของดร.กอบศักดิ์ จากประสบการณ์การทำงานในหลายที่ ปัญหาทั้งหมด เกิดจากการทำนโยบายสาธารณะบนความไม่เข้าใจ ตอนเด็กเคยได้ยินคำว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แผ่นดินของเราอุดมสมบูรณ์” หากไปดูชุมชนทั่วประเทศไทยจะพบว่าชุมชนของเราเข้มแข็งอยู่ดีกินดีและอยู่ได้พอสมควร
คำถามคือ เมื่อเราพัฒนาประเทศมา 40 - 50 ปี ทำไมชุมชนของเราถึงอ่อนแอลง ทำไมชุมชนของเราถึงเต็มไปด้วยปัญหา เรื่องของสุขภาพ เรื่องของการศึกษา เรื่องของหนี้สิน ทุกอย่างที่กดดันชุมชนเราอยู่ขณะนี้มันคืออะไร อะไรคือมะเร็งร้ายที่คอยกัดกร่อน อะไรคือเครื่องโม่ที่หมุนทำให้ชาวบ้านแย่ลงเรื่อยในทุกวันนี้
เริ่มต้นจากการตั้งคำถามเพื่อหาว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ตรงไหน และเราจะตอบปัญหานี้อย่างไร
ดร.กอบศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เริ่มจากความไม่รู้อะไรและไม่เฉลียวใจว่าระบบทุนนิยมที่เราใช้อยู่ในขณะนี้ เป็นระบบที่กัดกร่อนพี่น้องประชาชนข้างล่าง เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างดียิ่งขณะนี้ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว นานวันยิ่งอ่อนแอยิ่งรายได้ลดลง มีแต่ค่าใช้จ่าย เขาจะอยู่อย่างไร ไม่น่าแปลกใจทำไมเขาถึงเป็นหนี้ และสุดท้ายทำไมเขาถึงเสียที่ดิน ทำไมเขาจึงต้องไปเผาป่า ทำไมเขาจึงต้องทำสิ่งต่างๆ ที่กลายเป็นปัญหาให้กับสังคมต่างๆ ตามมา เพราะว่ามันมีระบบที่คอยกดดันบั่นทอนให้ชุมชนต่างๆ นั้นอ่อนแอลง
อีกสิ่งที่เราไม่เข้าใจและไม่เฉลียวใจก็คือ ความอ่อนแอหรือความเหลื่อมล้ำต่างๆ ส่วนหนึ่งเราสร้างขึ้นมาเอง
ดร.กอบศักดิ์ เคยได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ว่าเด็กไทยเกิดมา พื้นฐานไม่ได้แตกต่างจากต่างประเทศ แต่เมื่ออายุ 6 ขวบไปตรวจ IQ ของเด็ก บว่ามีไอคิวประมาณ 80 - 90 ในขณะที่ต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 100 -110 หลังจากนั้นเมื่อ อายุ 12 ปี ตรวจอีกครั้งก็เท่ากับตอน 6 ขวบ เพราะว่า IQ ของเขาพัฒนาตั้งแต่แรกเกิด หากเราให้อาหารเขาไม่ดี ดูแลเขาไม่ดี ไม่ช่วยพัฒนาสิ่งต่างๆ ไม่ช่วยเขาเล่น ไม่ให้ความใส่ใจ พัฒนาการทาง IQ เขาจะไม่ค่อยเกิด พ่อแม่ทำงานอยู่ที่หนึ่ง ลูกอยู่อีกที่หนึ่ง นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กที่เกิดมามี IQ เท่ากัน แต่เมื่ออายุ 6 ขวบ จึงมีความแตกต่างกัน
สามารถเข้าไปชมคลิปได้ที่ https://youtu.be/KGEFcBVRKbU
และยังมีเรื่องราวและองค์ความรู้ดี ๆ อีกมากมาย รอให้ทุกคนเข้าไปค้นหากันที่
“จดหมายเหตุไพบูลย์วัฒนศิริธรรม (ออนไลน์)” บนเว็บไซต์ www.paiboon.net