“ไม่ว่าคนรุ่น 50 ปีที่แล้วกับคนรุ่นปัจจุบัน ทัศนคติที่อยากจะช่วยเหลือชุมชนนั้นไม่ได้ต่างกัน”
มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในงานปาฐกถาไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ "ต่างยุค ต่างวัย การพัฒนาชุมชนและสังคม... 10 ปี กับการเปลี่ยนแปลงของงานพัฒนาสังคมไทย" เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2565 ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) สรุปได้ดังนี้
ไม่ว่าคนรุ่น 50 ปีที่แล้วกับคนรุ่นปัจจุบัน ทัศนคติที่อยากจะช่วยเหลือชุมชนนั้นไม่ได้ต่างกัน คือ อยากเห็นสังคมเป็นธรรม อยากช่วยเหลือคนที่ยากไร้หรือคนที่ฐานะด้อยกว่า สิ่งที่ต่างกันคือ สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน วิธีการช่วยเหลือชุมชนจึงต่างกัน
ในอดีต
- ประเทศไทยเป็นประเทศยากจนอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม
- ประเทศพึ่งพารายได้จากภาคเกษตร
- รายได้ประชาชาติมีไม่มาก งบประมาณจึงไม่พอไปจุนเจือภาคเกษตร
- เกษตรกรพึ่งพาตนเองในการขายผลผลิตให้ได้ราคาตลาด
- ไม่มีโครงการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน
- ชุมชนเกษตรหรือชุมชนที่ห่างไกลจึงมีความยากลำบากมาก
การช่วยเหลือชุมชนสมัยนั้น คือการเข้าไปช่วยเหลือโดยตรง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ริเริ่มโดยการก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยขึ้นที่จังหวัดชัยนาท โดยมีวิธีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปฝังตัวอยู่ในชุมชนต่าง ๆ เพื่อศึกษาใน 4 เรื่อง คือ 1.อาชีพที่ใช้หาเลี้ยงชีพ 2.สุขอนามัย 3.การศึกษาซึ่งด้อยกว่าในเมืองมาก และ4.หนทางที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง หลังจากนั้นจึงกลับมาวางแผนพัฒนาชุมชนเพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของแต่ละชุมชนในแต่ละเรื่อง ซึ่งได้ผลดี และชุนชนชอบใจมาก แผนการพัฒนาชุมชนแบบนี้จึงได้แพร่หลายออกไป
ปัจจุบัน
ภาคเกษตรดีขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้
- มีแผนพัฒนาชุมชน
- มีแนวคิดเกษตรผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ลดความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำของพืชแต่ละชนิดในแต่ละปีจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรกรได้ เกษตรกรไม่อดตายและไม่เป็นหนี้ เหลือกินค่อยนำไปขายเป็นกำไร
- มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ทำให้ผลผลิตขายได้ในราคาที่ไม่ขาดทุน
- มีโครงการ CSR จากภาคเอกชน
ปัญหาชนบทในปัจจุบันที่ควรได้รับการพัฒนา
- ปัญหาการศึกษาในชนบทด้อยกว่าในเมืองมาก ทั้งคุณภาพของโรงเรียนและครู ปัจจุบันครูเก่ง ๆ ไม่ยอมอยู่ชนบทจะอยู่แต่ในเมือง
- ปัญหาสุขอนามัย ปัจจุบันแม้จะมี รพสต. และมี อสม. ซึ่งทำงานดีทั้งประเทศ แต่การเข้าถึงการรักษาของคนชนบทก็ยังไม่ดีเท่าในเมือง
- การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เป็นการพัฒนาที่ไม่มีสิ้นสุด หากเข้มแข็งแล้ว ก็ต้องทำให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก
สามารถเข้าไปชมคลิปได้ที่ https://paiboon.net/?p=media&act=type&id_media_type=60&play=1
และยังมีเรื่องราวและองค์ความรู้ดี ๆ อีกมาก รอให้ทุกคนเข้าไปค้นหากันที่ จดหมายเหตุไพบูลย์วัฒนศิริธรรม (ออนไลน์) บนเว็บไซต์ www.paiboon.net